Translate our WebBlog into other languages 40 languages.

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ธ ทรงเป็นหลักชัยนิรันดร์การ: แนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจในการจัดการศึกษา



ตามแนวพระราชดำริของสำเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การก่อร่างสร้างวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ณ ตำบลช็อมโบร์ อำเภอปราสาทช็อมโบร์ จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓ จนกระทั่งมาถึงวันสำคัญ คือ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ นี้ คณะกรรมการโครงการโรงเรียนพระราชทานฯ ทั้งฝ่ายราชอาณาจักรไทยและฝ่ายราชอาณาจักรกัมพูชาได้ยึดแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นธงชัยตลอดมา


แนวพระราชดำริที่พระราชทานในวันนั้นมีดังนี้

๑. การรับนักเรียนเข้าเรียนในระยะแรกไม่ควรเกิน ๑,๒๐๐ คน

๒. ทรงเน้นเรื่องสุขภาพอนามัยของนักเรียนเป็นพิเศษ สำหรับนักเรียนนั้นไม่ว่าจะเป็นนักเรียนชาติใด ถ้าโภชนาการดี จะทำให้สุขภาพอนามัยดี สติปัญญาและการเรียนของนักเรียนจะบังเกิดผลดีตามมาด้วย

๓. ทรงให้ความสำคัญของการอนุรักษ์โบราณสถานและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

๓.๑ การอนุรักษ์โบราณสถาน โรงเรียนพระราชทานแห่งนี้อยู่ใกล้กับปราสาทช็อมโบร์ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของราชอาณาจักรกัมพูชา นักเรียนและชุมชนน่าจะได้รับการปลูกฝังให้รักและหวงแหนโบราณสถานนั้นและมีความรู้พอที่จะเป็นมัคคุเทศก์อธิบายให้นักท่องเที่ยวฟังได้


๓.๒ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรจะปลูกฝังให้นักเรียนและชุมชนมีจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้รู้จักรัก หวงแหนป่า ต้นไม้ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ อันจะนำไปสู่การรักและหวงแหนประเทศชาติได้ในที่สุด


๔. การเรียนรู้เรื่องสุขภาพอนามัยและโภชนาการ จะนำไปสู่ความรู้ในด้านสุขศึกษาและคหกรรมศาสตร์ โดยอาจจะนำความรู้ดังกล่าวไปประกอบอาหารหรือขนมสำหรับขายนักท่องเที่ยว รวมทั้งอาจจะพัฒนาไปถึงเรื่องการโรงแรมและการท่องเที่ยวได้

๕. การเรียนภาษาต่างประเทศ ในอนาคตนักท่องที่ยวจะหลั่งไหลมาท่องเที่ยวราชอาณาจักรกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และนักท่องเที่ยวที่พูดภาษาอังกฤษจากประเทศอื่นๆ ดังนั้นภาษาไทยและภาษาอังกฤษน่าจะเป็นภาษาที่นำมาสอนในโรงเรียนนี้ได้


เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๔ สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้คณะกรรมการทั้งสองฝ่ายได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทอีกครั้งหนึ่งในวาระที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการโรงเรียนพระราชทานฯ ตามโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้านการศึกษา และการลงนามความตกลงโครงการระหว่างกรมราชองครักษ์กับกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและการกีฬา ว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งโรงเรียนปราสาทช็อมโบร์ (ปัจจุบันคือวิทยาลัยกับปงเฌอเตียล) จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา



ในวาระนั้น พระราชดำรัสสำคัญที่พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการโรงเรียนพระราชทานฯ นำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติงานจัดการศึกษา ได้แก่

๑. ให้ยึดหลักสูตรของราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นหลักและเพิ่มเติมสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์

๒. ให้ใช้การสหกรณ์โรงเรียนเป็นเครื่องมือในการฝึกการบริหารและการจัดการ เป็นการฝึกการบันทึกค่าใช้จ่ายและการลงทุน

๓. ควรปรับปรุงเรื่องการประชาสัมพันธ์ การจัดการศึกษาตามโครงการฯ เพื่อให้ชาวไทย ชาวกัมพูชา และชาวต่างประเทศอื่นๆ ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเพื่อสร้างโรงเรียนให้แล้วเสร็จ

๔. ควรอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรมของชาติกัมพูชา อาทิ ปราสาทช็อมโบร์ ควรนำความรู้เหล่านี้บรรจุไว้ในหลักสูตร นักเรียนอาจนำความรู้เรื่องโบราณสถานต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องปราสาทช็อมโบร์ ไปใช้เป็นวิชาชีพได้ เช่น เป็นมัคคุเทศก์นำชาวกัมพูชา ชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้าชมปราสาท อันเป็นการเพิ่มพูนรายได้อีกทางหนึ่ง




คณะกรรมการทั้งสองฝ่ายน้อมรับพระราชกระแสใส่เกล้าฯ ไว้เป็นแนวทางดำเนินการด้วยความซาบซึ้งในครูพระองค์นี้ การดำเนินงานทำไปได้ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่มุ่งหวังว่าจะพยายามดำเนินการจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริให้ประสบความสำเร็จให้จงได้ เพื่อประโยชน์สุขของชาวกัมพูชาเอง

สิ่งที่ควรบันทึกไว้ ณ ที่นี้อีกเรื่องหนึ่งคือ การระดมเงินเพื่อสมทบทุนสร้างโรงเรียนพระราชทานแห่งนี้ นอกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงบอกบุญไปยังพระสหายชาวไทยและชาวต่างประเทศให้มาช่วยกันบริจาคสมทบแล้ว เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดแสดงโขนหน้าจอ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนอินทรชิตถูกศรกินนม ณ สังคีตศาลา เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ในรอบที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโขนร่วมกับประชาชนที่ซื้อบัตรเข้าชมตามปกตินั้น กรมศิลปากรได้นำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนโครงการโรงเรียนพระราชทานนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ยังทรงระนาดเอกประกอบการแสดงโขนของกรมศิลปากร ตอนยกรบ ณ โรงละครแห่งชาติ โดยใช้เวลาในการแสดงทั้งหมดประมาณ ๓ ชั่วโมงเศษ ในครั้งนั้นกรมศิลปากรซึ่งเป็นผู้จัดการแสดงและผู้บัญชาการทหารบกผู้จัดจำหน่วยบัตรได้ร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบโครงการนี้เช่นกัน


พระราชอัจฉริยะภาพแลพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรแห่งประเทศไทยที่ทรงบรรเลงระนาดเอกร่วมกับเจ้านายวังปลายเนิน ประกอบการแสดงโขนของกรมศิลปากรในวันนั้นเป็นการยืนยันความตั้งพระทัยของพระองค์ที่ทรงมุ่งมั่นในการพระราชทานความช่วยเหลือโครงการนี้ และยังเป็นการชี้ให้ประจักษ์ถึงหิตานุหิตประโยชน์ของศิลปวัฒนธรรมที่ไม่ได้เป็นเพียงแต่การที่ทรงบันดาลปิติหฤหรรษ์แก่ประชาชนคนดูเท่านั้น แต่การทรงระนาดเอกครั้งนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์หารายได้สมทบทุนสำหรับสร้างโรงเรียนพระราชทานแห่งนี้ด้วย


ด้วยพระราชปณิธานที่มั่นคงในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียลแห่งนี้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่เบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓ ทรงมีพระราชปรารภที่จะพระราชทานของขวัญชิ้นเอกคือการศึกษาแก่ประชาชนชาวกัมพูชา ผู้รับสนองพระราชดำริชุดแรก คือ พลเอกวาภิรมย์ มนัสรังษี แห่งกรมราชองครักษ์ และพลโทวิชิต ยาทิพย์ (ยศขณะนั้น) ทั้งสองท่านได้สนองพระราชบัญชาโดยการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ตลอดมา


การพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้านการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ นั้น ได้ประจักษ์ผ่านพระราชกรณียกิจใหญ่น้อยหลายประการทั้งในราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ดังนี้


ครั้งที่ ๑


เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๓ เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพื้นที่ที่จะพระราชทานโรงเรียน


ครั้งที่ ๒


เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการโครงการโรงเรียนพระราชาทานฯ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายราชอาณาจักรกัมพูชาเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อถวายรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานและขอพระราชทานวินิจฉยในการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ราชอาณาจักรกัมพูชา



ครั้งที่ ๓


เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานลงนามในพิธีสารฯ ว่าด้วยการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้านการศึกษา ครั้งที่ ๑ คณะกรรมการโครงการโรงเรียนพระราชทานฯ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายราชอาณาจักรกัมพูชาเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท


ครั้งที่ ๔


เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์โรงเรียนพระราชทาน หรือวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล อำเภอปราสาทช็อมโบร์ จังหวัดกำปงธม


ครั้งที่ ๕


เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้บริหารและครูโรงเรียนพระราชทานจำนวน ๔๖ คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเพื่อรับพระราชทานวุฒิบัตรการฝึกอบรมในโครงการเตรียมความพร้อมบุคลากรของโรงเรียนพระราชทาน ตามโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้านการศึกษา (ระยะที่ ๑) รุ่นที่ ๑ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุคลากรรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกของโรงเรียนเข้ามารับการฝึกอบรมระหว่างวันที่ ๘-๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔



ครั้งที่ ๖


เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมและติดตามการก่อสร้างอาคารเรียนในวันนั้นได้พระราชทานสนามกีฬา เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ฯลฯ แก่ผู้แทนราชอาณาจักรกัมพูชา


ครั้งที่ ๗


เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๔ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโขนหน้าจอ ตอนอินทรชิตถูกศรกินนมซึ่งกรมศิลปากรจัดถวายฯ และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบโครงการโรงเรียนพระราชทาน ณ สังคีตศาลา กรมศิลปากร


ครั้งที่ ๘


เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๕ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้บริหารและครูจากราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งผ่านการอบรมในโครงการเตรียมความพร้อมบุคลากรของโรงเรียนพระราชทาน (หลักสูตรขั้นพื้นฐานและหลักสูตรขั้นสูงรุ่นที่ ๒) เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อรับพระราชทานวุฒิบัตร ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา



ครั้งที่ ๙


เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เสด็จพระราชดำเนินทรงติดตามความก้วหน้าในการดำเนินงานโรงเรียนพระราชทาน


ครั้งที่ ๑๐


เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณร่วมบรรเลงระนาดเอกประกอบการแสดงโขนของกรมศิลปากร ตอนยกรบ ณ โรงละครแห่งชาติ งานนี้กองทัพบกได้จัดจำหน่ายบัตรเพื่อนำรายได้ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบโครงการโรงเรียนพระราชทาน


ครั้งที่ ๑๑


เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานลงนามสนพิธีสารแก้ไขความตกลงโคงการระหว่างการทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬา แห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับกรมราชองครักษ์แห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งโรงเรียนปราสาทช็อมโบร์ คณะกรรมการโครงการพระราชทานฯ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายราชอาณาจักรกัมพูชาเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท



ครั้งที่ ๑๒


เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้บริหารและครูจากราชอาณาจักรกัมพูชาซึ่งผ่านการอบรม ตามหลักสูตรโครงการเตรียมความพร้อมบุคลากรขั้นพื้นฐานและขั้นสูง จำนวน ๖๐ คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อรับพระราชทานวุฒิบัตร ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา


ครั้งที่ ๑๓


เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘ คณะกรรมการฝ่ายไทยได้นำนักเรียนทุนพระราชทานทั้ง ๑๒ คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสระปทุม เพื่อรับพระราชทานพระราโชวาทก่อนที่จะแยกย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และวิทยาลัยอาชีวศึกษา จังหวัดศรีสะเกษในวันนั้น ฯพณฯ นายปก ทอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬาและคณะได้ร่วมเข้าเฝ้าฯ ด้วย


ครั้งที่ ๑๔


เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีสารแก้ไขความตกลงโครงการและพิธีสาร ค.ศ.๒๐๐๒ ระหว่างกรมราชองครักษ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งและพัฒนาวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา คณะกรรมการโครงการโรงเรียนพระราชทานฯ ทั้งฝ่ายไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท



ครั้งที่ ๑๕


เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดวิทยาลัยกำปงเฌอเตียลตามโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้านการศึกษา



พระราชทานความช่วยเหลือตามโครงการนี้กล่าวได้ว่า เป็นการพระราชทานการศึกษาทั้งระบบ ทุกคนอาจจะเข้าใจว่าเริ่มต้นจากการก่อสร้างอาคารเรียน พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ พระราชทานคณะกรรมการฝ่ายไทยให้มาร่วมจัดการศึกษาเท่านั้น อันที่จริงแล้วยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริอย่างครูใหญ่ของโครงการที่ทรงคอยอุ้มชูดูแลให้อยู่ในทิศทางที่พึงจะเป็น และยังทรงเป็นแม่กองในการรณรงค์หารายได้สมทบทุนสำหรับสร้างโรงเรียนแห่งนี้ด้วยพระองค์เอง

1 ความคิดเห็น: